ดาวพลูโตเคยอยู่ในสถานะดาวเคราะห์ แต่ถูกปรับลดสถานะให้เป็นดาวเคราะห์แคระเมื่อปี พ.ศ.2549 มันโคจรรอบดวงอาทิตย์ไกลออกไประยะ 40 เท่าของโลก อาศัยอยู่ในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) ดินแดนสุดเยือกเย็นด้านนอกระบบสุริยะ นักดาราศาสตร์คาดว่าพลูโตอาจมีเปลือกนอกเป็นชั้นน้ำแข็งหลายพันกิโลเมตรแต่เมื่อเร็วๆนี้ นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์แห่งมหาวิทยาลัยซานตาครูซ ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า ดาวพลูโตอาจไม่ใช่ดาวที่หนาวยะเยือกมาตั้งแต่ต้น แต่อาจกำเนิดขึ้นพร้อมกับอุณหภูมิอบอุ่น เพื่อปกป้องมหาสมุทรใต้ผิวดินที่ยังคงมีอยู่ในทุกวันนี้ จากการวิเคราะห์ภาพพื้นผิวดาวที่ถ่ายได้โดยยานอวกาศนิว ฮอไรซันส์ในปี พ.ศ. 2558 และการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ ทำให้มีการเสนอทฤษฎีใหม่ว่าดาวพลูโตเริ่มก่อตัวโดยอาศัยความร้อนเมื่อ 4,500 ล้านปีก่อน และตอนที่ก่อตัวขึ้นก็มีวัสดุใหม่ๆ จะเข้ามาส่งผลกระทบต่อพื้นผิวของดาว ผลกระทบแต่ละอย่างก็เหมือนระเบิดที่ทำให้บริเวณใกล้เคียงอุ่นขึ้นถ้าดาวพลูโตก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ พื้นผิวจะเย็นลงระหว่างการกระทบในแต่ละครั้ง แต่หากดาวก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว นั่นแสดงว่ามีแรงกระแทกจากด้านบนจนพื้นผิวไม่มีเวลาที่จะเย็นลง นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่าถ้าดาวพลูโตก่อตัวในเวลาน้อยกว่า 30,000 ปีความร้อนจากแรงกระทบเหล่านี้น่าจะเพียงพอต่อการเกิดมหาสมุทร ซึ่งน้ำถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของสิ่งมีชีวิต ดังนั้น มหาสมุทรใต้ผิวดาวพลูโตอาจเก็บกักสิ่งมีชีวิตมาอย่างยาวนานก็เป็นได้.